สร้างคุณภาพอย่าง "เดนโซ่" ด้วย QCD
การทำธุรกิจหรือ การทำยุทธศาสตร์ตำราไหน ก็ว่าไว้เหมือนกันว่า "รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง"
แต่ก่อนที่จะ "รู้เขา" คงต้อง "รู้เรา" ให้ถ่องแท้เสียก่อน การรู้จุดยืน และวิเคราะห์ตัวเอง ให้ออกเป็นขั้นต้น ของการทำธุรกิจ ที่สำคัญที่จะทำให้ผู้นำลบจุดโหว่ตรงไหนออก ควรหยิบจุดแข็งจุดไหนขึ้นสู้ และควรจะปรับปรุงอย่างไร
ด้วยหลักการเดียวกันนี้ บริษัท เดนโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งไม่เคยรู้ปัญหาของตัวเองมาก่อน หันมาวิเคราะห์จุดยืน ในการทำธุรกิจของตัวเอง โดยการเข้าร่วมโครงการ Best Practices หรือกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพ ในการแข่งขันทางธุรกิจ เพื่อหากระบวนการ ที่เหมาะสมมาปรับปรุง ตัวเอง ให้ดีขึ้น
เดนโซ่ พบว่า เครื่องปรับอากาศ ในรถยนต์และอุปกรณ์ ระบบไฟฟ้าในรถยนต์ เป็นสินค้า ที่ต้องการคุณภาพ ต้องควบคุมต้นทุนการผลิต และการส่งมอบสินค้า ให้ถึงมือลูกค้า เป็นเรื่องที่ผิดพลาดไม่ได้ ปัจจุบัน QCD ถือเป็นเป้าหมายหลัก 3 ด้านของบริษัท เดนโซ่ ได้แก่
Q = Quality = คุณภาพของผลิตภัณฑ์
C = Cost Oriented = ต้นทุนการผลิต
D = Delivery = การส่งมอบ
เป้าหมายหลัก 3 ด้านนี้ กลายได้เอกลักษณ์ ที่โดดเด่นของเดนโซ่ โดยจะถูกกำหนด เป็นนโยบายหลักประจำปี และกระจายลงไปทั่วทุกแผนก ในบริษัท โดยผ่านแผนงานประจำปี ของแต่ละผู้จัดการแผนก ลงสู่ระดับปฏิบัติการ ซึ่งประสบผลสำเร็จ ได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องพึ่ง แม้กระทั่งบริษัท ที่ปรึกษา เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่า การจ้างบริษัท ที่ปรึกษานั้น ทำให้องค์กร ต้องพบปัญหา ความไม่เข้าใจกระบวนการ อันล้ำลึกของพนักงานระดับล่าง
"วิธีการจัดการ ของบริษัทคอนซัลท์ ทั้งหลายนั้น เวลาปฏิบัติจริง มักจะล้มเหลว เพราะตัวผู้ปฏิบัติ ไม่มีความรู้เพียงพอ ที่จะนำวิธีของคอนซัลท์ ที่มีความรู้สูงมาใช้ได้ วิธีเหล่านั้น มักเป็นวิธีการที่ยากเกินกว่า ความเข้าใจของผู้ปฏิบัติ"
ด้วยเหตุนี้ บริษัท เดนโซ่ จึงหันหลังให้บริษัทที่ปรึกษา แต่หยิบวิธีของบริษัทแม่ ที่ประเทศญี่ปุ่นประยุกต์ ให้เข้ากับลักษณะนิสัย การทำงานและองค์กรแบบไทยๆ ซึ่งวิธีการที่ทำให้ บริษัท เดนโซ่ ประเทศไทย กลายเป็นบริษัท ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ด้านกิจกรรม สนับสนุนภายใน ได้แก่ "QCD"
"มังกร ชัยกิมานนท์" ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป บริษัท เดนโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า บริษัทได้ดำเนินการ พัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อตอบสนอง ความต้องการของลูกค้า ผ่านระบบและกลไกของดัชนี ตัววัดผลของการปฏิบัติการ ตั้งแต่ระดับล่างถึงระดับบน โดยกำหนด เป้าหมายหลัก ในเรื่องของระดับคุณภาพ การส่งมอบตรงต่อเวลา และการลดต้นทุนการผลิต
สำหรับดัชนีวัดผลต่างๆ ถูกกำหนดมาจากความต้องการ ของลูกค้า โดยแปลงออกมาเป็นเป้าหมายหลัก 3 ด้าน คือ คุณภาพ ต้นทุน และการส่งมอบ ตามหัวใจหลักของ QCD ซึ่งถูกเน้น อย่างสม่ำเสมอในการพัฒนา ปรับปรุง กระบวนการการผลิต โดยผ่านกลไก ของระบบดัชนีวัดผล ซึ่งถูกกำหนดโดย ผู้บริหารระดับบน ขององค์กร (Top Down) และเป้าหมายหลัก กำกับนโยบาย และแผนงานประจำปี จะได้รับการกระจาย (Deployment) ลงไปทั่ว ทั้งองค์กร จนถึงระดับปฏิบัติการ
การกระจายนโยบายและ เป้าหมายหลักในแต่ละระดับ จะมีการกำหนดดัชนี ซึ่งสามารถวัดได้ในเชิงปริมาณ และการกำหนดเป้าหมาย ในเชิงตัวเลขกำกับ ดัชนีทุกตัว ในระดับล่างจะนำมารวมกัน เพื่อจัดทำเป็นรายงาน สรุปผลการปฏิบัติงาน เพื่อนำเสนอ ต่อการประชุมประจำสัปดาห์ ของหัวหน้าหน่วย และการประชุม ระดับผู้จัดการในการประชุม ประจำเดือน
บริษัท เดนโซ่ มีการจัดกิจกรรม สนับสนุนต่างๆ ที่ปฏิบัติกันในองค์กร เพื่อพัฒนา และปรับปรุงการทำงาน นอกจากนี้ ยังช่วยหาดัชนีวัดผล ซึ่งช่วยให้บริษัท ประสบความสำเร็จ โดยแบ่งออกเป็น 3 กิจกรรม ตามระดับของพนักงาน ได้แก่
กิจกรรมกลุ่มย่อย (Small Group) เป็นกิจกรรมที่สนับสนุนการปฏิบัติงาน ในระดับพนักงานและหัวหน้ากลุ่ม โดยเป็นกิจกรรม ที่ทางบริษัทได้ให้ความสำคัญ มาตั้งแต่แรกเช่น QCC, 5s หรือ 5ส. และ GPM
โดยเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัท ที่ริเริ่มการนำเอา "กิจกรรมกลุ่มคุณภาพ" หรือ "QCC" (Quality Control Circle) มาใช้ โดยทำขนานไปพร้อมๆ กับกิจกรรม 5ส. โดยมีการกำหนดรูปแบบ ของการทำกิจกรรมไว้ อย่างชัดเจน มีการจัดองค์กรและคณะกรรมการ ดูแลกิจกรรมหลักต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 3 ด้าน คือ การให้การศึกษาแก่พนักงาน การติดตามผล และการประชาสัมพันธ์
สำหรับ "QC Circle" เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ บริษัท เดนโซ่ เป็นผู้ริเริ่มขึ้น โดยเป็นระบบ การบริหารงานแบบ Top Down ที่ปล่อยให้พนักงานทำ QC ด้วยตัวเอง ซึ่งถือเป็นกิจกรรม กลุ่มเพื่อสร้างคุณภาพ ในการผลิตและการทำงานขององค์กร โดยกลุ่มบุคลากร ที่ทำงานให้กับองค์กรจริงๆ
กระบวนการในการทำ QC Circle เริ่มจากการจัดตั้งกลุ่ม ในสายการผลิตขึ้นกลุ่มละไม่เกิน 10 คน แล้วจับเข่าคุยกัน ถึงปัญหาที่พบในการทำงาน ตั้งเป็นหัวข้อ แล้วจัดอันดับความสำคัญ ของปัญหาที่ต้องการแก้ไข เป็นอันดับแรก ซึ่งเป็นการปฏิบัติ ตามขั้นตอน PDSE ได้แก่
P = Plan คือ การวางแผนและกำหนดเป้าหมาย แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ
D = Do คือ การลงมือทำ
S = Set คือ การตรวจสอบผลงานที่ทำ เช็คว่าได้ผลตรงตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่
E = Extion คือ การสรุปแล้วตั้งเป็นมาตรฐาน
"ต้องนั่งคุยกันว่าพบปัญหาอะไรกันบ้าง ระดมความคิดว่าจะแก้ไขอย่างไร ลงมือทำตามขั้นตอน จนถึงขั้นตอนสุดท้าย ก็ต้องมาประเมินดูว่า ทำแล้วได้ผลเพียงไร ตรงตามเป้าหมายหรือไม่ และปีหน้าจะแก้ไขอย่างไร" มังกร สรุป
กิจกรรมข้ามหน่วยงาน (Cross-Functional) เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้อง กับนโยบายหลัก ได้แก่ เรื่องของการปรับปรุงคุณภาพ การลดต้นทุน และการส่งมอบ เช่น กิจกรรมที่ปฏิบัติเพื่อ Support ลูกค้า, Weekly Quality Meeting คือ กิจกรรมที่ให้พนักงาน เข้ามาร่วมประชุมกัน ทุกสัปดาห์ เพื่อสนทนากัน ถึงเรื่องปัญหา ในการทำงาน
Quality Meeting (Company) หรือ กิจกรรมองค์กร เป็นกิจกรรม ที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า หรือบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ (OE) เป็นส่วนหนึ่ง ของการปรับปรุง ความพึงพอใจ ของลูกค้า (Customer Satisfaction) ตามนโยบายหลัก กิจกรรมในกลุ่มนี้ จะมีการตั้งคณะกรรมการ เพื่อประสานงาน และดูแล ภายใต้ความรับผิดชอบ ของรองกรรมการผู้จัดการ ซึ่งจะจัดขึ้น เป็นประจำทุกเดือน โดยถือเป็นกิจกรรม ของผู้บริหารระดับสูง เพื่อวางแผน ในการทำงาน ในเดือนถัดไป
ส่วนนี้จะพลาดไม่ได้ เพราะนั่นหมายถึง "ความพึงใจของลูกค้า" ซึ่งส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับ การบริการหลังการขาย "มังกร" อธิบายว่า บริษัทจะไม่รู้เลยว่า หลังจากขายไปแล้ว ลูกค้าจะไปทำอย่างไร กับสินค้า มีปัญหาหรือไม่ ดังนั้นบริษัท จะไปประชุมร่วมกับ ลูกค้าเดือนละครั้ง เพื่อดูสายการผลิตของลูกค้า ส่วนหนึ่ง เป็นการป้องกัน ตัวผลิตภัณฑ์ และช่วยแนะนำ การใช้ที่ถูกต้องให้แก่ลูกค้า
ในการนำกิจกรรมดังกล่าว เข้ามาใช้ในองค์กร ทางเดนโซ่เอง ก็ต้องมีการเทรนพนักงาน โดยเชื่อว่า การให้การศึกษา อย่างต่อเนื่อง ด้านการปฏิบัติ และให้คำปรึกษา แบบกลุ่มเป็นสิ่ง ที่ช่วยยกระดับคุณภาพ การทำงานและสร้างความเข้าใจ ที่ถูกต้องให้แก่พนักงาน
"เรามีการเทรนนิ่งทุกปี โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน เป็น outside กับ inside แบบ outside ก็จะเชิญวิทยากร จากข้างนอกมาอบรม ให้กับพนักงาน ส่วนแบบ inside ก็จะให้วิทยากรของเรา ที่ผ่านการจดทะเบียน รับรองเป็นเทรนเนอร์แล้วมาเป็นผู้อบรม" มังกร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบในช่วงแรก ของการนำกิจกรรมมาใช้ เช่น วิธี QCC ก็ได้รับการต่อต้าน จากพนักงาน โดยเฉพาะพนักงานระดับล่าง ที่มองว่าวิธีการดังกล่าว เป็นการเพิ่มภาระ มากกว่าแบ่งเบา
"ในความเข้าใจแรกๆ ของผู้ปฏิบัติงานระดับล่าง เขาคิดว่าหน้าที่ ของเขาคือการทำงาน ตามคำสั่งเท่านั้น แต่เมื่อนำวิธี QCC มาใช้ เขาก็ต้องมาประชุมกลุ่ม ทำงานกลุ่มวันละครึ่งชั่วโมง เขาจะรู้สึกเหมือน มันไม่ใช่หน้าที่ เป็นการเพิ่มภาระ เพิ่มงานให้เขามากกว่า แต่ต่อมาเขาก็เริ่มเข้าใจว่า เป็นเรื่อง ที่เป็นประโยชน์ กับเขาเอง เช่น เรื่อง 5 ส. ต่อมาเขาก็เริ่มชิน และตอนนี้ ก็กลายเป็น Routine Job ที่อยู่ในสายเลือด ของเขาไปแล้ว นอกจากนี้วิธีการ ดังกล่าว ก็ยังเป็นประโยชน์ เมื่อเขาได้เลื่อนขั้น ขึ้นไปเป็นระดับหัวหน้า" มังกร กล่าว
บริษัท เดนโซ่ ได้ริเริ่มจัดกิจกรรมกลุ่ม คุณภาพดังกล่าวขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 และได้มีการพัฒนาปรับปรุง กิจกรรมกลุ่มย่อย ภายในองค์กร อยู่ตลอดเวลา รวมทั้งได้ผนวก เข้าเป็นส่วนหนึ่ง ของดัชนีวัดผลการประกอบการ ขององค์กรและการประเมินผลงาน ของระดับแผนก และระดับพนักงาน
และด้วยกิจกรรม สนับสนุนภายในนี้ ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้บริษัท สามารถปรับปรุง ประสิทธิภาพ ในกระบวนการผลิต และคุณภาพ ของผลิตภัณฑ์ ของเดนโซ่มาได้อย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน "มังกร" เชื่อเช่นนั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น